วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565

รถไฟจีน-ลาว: มุมมองจากเชียงราย

 

อย่างที่ทุกท่านพอจะทราบมาแล้วบ้างว่า รถไฟจีน-ลาว สายนี้ เป็นหนึ่งในโครงการอภิมหาโปรเจ็คของจีน ที่รู้จักกันในชื่อ Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR) โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนและประเทศต่างๆ  รถไฟจีน-ลาว นี้ ถือเป็นรถไฟสายยุทธศาสตร์ในแง่ที่ต้องการเปิดเส้นทางออกในด้านการขนส่งสินค้ามายังภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนใช้แป็นเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลลงไปยังช่องแคบมะละกา และเป็นการขยายตลาดรองรับสินค้าของจีนอีกด้วย

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ที่เชื่อมต่อระหว่างคุนหมิง-กับเวียงจันทน์ ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เส้นทางรถไฟนี้ มีความยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตร โดยมีความยาวในจีน 600 กิโลเมตร และใน สปป.ลาว 400 กิโลเมตร (ดูภาพที่ 1)  และสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปัจจุบันนี้ รถไฟให้บริการโดยวิ่งออกจากเวียงจันทน์ วันละ 2 เที่ยว ใช้เวลาวิ่งถึงนครคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ประมาณ 10 ชั่วโมง ขณะที่เส้นทางใน สปป. ลาว ประกอบด้วย 21 สถานี แบ่งเป็นสถานทีขนส่งผู้โดยสาร 10 สถานี และสถานีขนส่งสินค้า 11 สถานี โดยเริ่มที่สถานีบ่อเต็น ในแขวงหลวงน้ำทา  และผ่านเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างหลวงพระบาง และวังเวียง  โดยมีสถานีปลายทางสุดท้าย คือ เวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นสถานทีขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รถไฟเส้นทางนี้ยังไม่สามารถให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนไปจีนได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงให้บริการเฉพาะใน สปป.ลาว เท่านั้น

ภาพที่ 1 เส้นทางรถไฟจีน-ลาว

ที่มา: BBC News ไทย (2564)

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เปิดทำการในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา การเดินทางและขนส่งทางรถไฟจน-ลาว มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะด้านปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า จากรายงานของ China Railway Kunming Group Co.,Ltd. ระบุว่า มีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟนี้แล้วมากกว่า 1 ล้านคน และมีการขนส่งสินค้ามากกว่า 500,000 ตัน โดยในจำนวนนี้ 126,600 ตัน เป็นการขนส่งสินค้าข้ามประเทศผ่านรถไฟจีน-ลาวมากกว่า 300 ขบวน (Xinhua, 2022b) นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า บริการรถไฟขนส่งสินค้าข้ามประเทศที่ออกเดินทางจากนครคุนหมิงมายังปลายทางใน สปป. ลาว มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสินค้าที่มีการขนส่งมากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่ อาหารสัตว์ ปุ๋ย สินค้าด้านการสื่อสาร โซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ รถยนต์ และสิ่งทอ ขณะปริมาณการขนส่งข้าว เบียร์ และผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น (Xinhua, 2022a)

แน่นอนครับ จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การพัฒนารูปแบบและเส้นทางคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกขึ้น ย่อมจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนในภาพรวมเพิ่มมากขึ้น  จากการศึกษาของธนาคารโลกที่เปรียบเทียบค่าขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางคุนหมิง-แหลมฉบัง ใน 4 เส้นทาง (ภาพที่ 2) พบว่า สถานการณ์ที่ 1 การขนส่งผ่านถนนเส้นทาง R3A มีต้นทุนค่าขนส่งประมาณ 2,565 บาทต่อตัน ขณะที่สถานการณ์ที่ 2 การขนส่งโดยรถไฟจีน-ลาว และต่อรถบรรทุกที่ไทย มีต้นทุนประมาณ 1,652 บาท หรืออาจกล่าวได้ว่า การขนส่งโดยรถไฟจีน-ลาว จะช่วยลดค่าขนส่งได้มากกว่า 1 ใน 3 ของค่าขนส่งทางถนนโดยใช้เส้นทาง R3A (อภิชญาณ์ จึงตระกูล, สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และศุทธาภา นพวิญญูวงศ์, 2564) ด้วยเหตุผลดังกล่าว น่าจะส่งผลให้นักธุรกิจชาวจีนและต่างชาติจะเข้ามาประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว และไทยเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ผ่านทางรถไฟ เนื่องจากความสะดวกในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถไฟถูกกว่าเครื่องบินมาก แต่ใช้เวลาเดินทางใกล้เคียงกัน

ภาพที่ 2 ประมาณการค่าขนส่งสินค้าเส้นทางคุนหมิง-แหลมฉบัง

          หากพิจารณาในแง่ของการส่งออก ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าไทยจะส่งออกส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาวและจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมณฑลยูนนาน ที่ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรราว 50 ล้านคน ทั้งนี้สินค้าที่มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้สดและผลไม้แปรรูป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้มีการเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟจีน-ลาว มาเป็นระยะเวลามากกว่า 2 เดือนแล้ว แต่ไทยยังไม่สามารถส่งสินค้าไปขายให้กับจีนโดยทางรถไฟได้ ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยทางรถไฟ โดยให้เหตุผลถึงความไม่พร้อมในการตรวจสินค้าขาเข้าบริเวณด่านโมฮาน-บ่อเต็น ณ จุดพรมแดนจีน-ลาว และพิธีการศุลกากร

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คือ ผู้ประกอบการชาวไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นกับสินค้านำเข้าจากจีน ทั้งในตลาดไทยและ สปป.ลาว เนื่องมาจากสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่านั้น ได้เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสินค้าไทยไป หากไทยต้องการได้ประโยชน์จาก “รถไฟจีน-ลาว” ต้องเร่งรัดข้อตกลงในเรื่องการเดินทางของนักท่องเที่ยวการขนส่งและขนถ่ายสินค้าระหว่าง 3 ประเทศนี้ให้ราบรื่นไม่มีรอยต่อ รวมไปถึงผลักดัน สนับสนุนส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุนไทย สามารถออกไปดำเนินธุรกิจหรือลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ผ่านแนวคิด “การส่งออกผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน”

          แม้ว่าการเปิดให้บริการของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว อาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมและนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจในหลากหลายด้าน แต่เมืองชายแดนทางภาคเหนือ อย่างจังหวัดเชียงราย อาจจะได้รับผลกระทบในทางลบจากรถไฟเส้นทางดังกล่าว โดยในทางเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายผลกระทบนี้ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า Trade diversion หรือการเบี่ยงเบนทางการค้า

กล่าวคือ ช่วงก่อนที่จะมีรถไฟจีน-ลาว การที่จะส่งสินค้าออกไปยังจีน หรือนำสินค้าเข้าจากจีน จะใช้เส้นทาง R3A เป็นหลัก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุด ใช้เวลาเดินทางไม่มากนัก และมีต้นทุนขนส่งไม่สูงในขณะนั้น โดยเส้นทาง R3A นี้เชื่อมต่อจุดสำคัญของประเทศไทย สปป.ลาว และจีน ได้แก่ ด้านเชียงของ จ.เชียงราย – ด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว และด่านบ่อเต็นแขวงหลวงน้ำทา ในสปป.ลาว – ด่านโมฮาน เมืองเชียงรุ้ง และนครคุนเหมิง มณฑลยูนนาน ในประเทศจีน คิดเป็นระยะทางรวม 1,240 กิโลเมตร (ดูภาพที่ 3) จึงทำให้เส้นทางนี้ และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีบทบาทสำคัญในการส่งออกสินค้าการเกษตรของไทยไปยังจีน และมีบทบาทในฐานะเส้นทางเชื่อมต่อการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของทั้ง 3 ประเทศอีกด้วย

ภาพที่ 3 เส้นทางการขนส่งสินค้าไทย-ลาว-จีน โดยทางถนน R3A

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (2020)

แต่ภายหลังจากที่ได้มีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564  ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าบทบาทและความสำคัญของเส้นทาง R3A จะลดน้อยลง ปริมาณการค้า หรือมูลค่าการค้าผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย จะลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว จะมีการเปลี่ยนเส้นทางการค้าไปยังด่านหนองคาย เพื่อใช้บริการขนส่งและเดินทางโดยรถไฟเพิ่มขึ้นแทนที่การขนส่งทางบกผ่านด่านเชียงของ นอกจากนั้น หากต้องการจะเดินทางหรือขนส่งสินค้าทางบกผ่านด่านเชียงของเพื่อไปเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาว ณ ด่านบ่อเต็น-โมฮาน การเดินทางและขนส่งด้วยรถใน สปป.ลาว  ระหว่างด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว กับด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ยังมีปัญหา อุปสรรคและความไม่สะดวกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสภาพถนน กฎระเบียบทางการค้าและขนส่งที่มีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง การเปลี่ยนหัวลากรถบรรทุกสินค้า พิธีการศุลกากร เป็นต้น ทำให้การเดินทางและขนส่งบนถนนผ่านเส้นทาง R3A นี้ ใช้เวลานานถึง 2 วัน (จากนครคุนหมิงถึง จ.เชียงราย ขณะที่รถไฟจากคุนหมิงถึง จ. หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง) และมีต้นทุนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งด้วยรถไฟที่ (ดูภาพที่ 1)

          เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จังหวัดเชียงราย อาจจะต้องดำเนินการเร่งเปิดด่านพรมแดน  เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก  ด่านเชียงของ-ห้วยทราย รวมไปถึงจุดผ่อนปรนต่างๆ  รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมโยงและส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับกลุ่มจังหวัด หรือภูมิภาคก็ตาม

 

เอกสารอ้างอิง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. 2562. เส้นทาง R3A: ไทย-ลาว-จีน ทางสายไหม-ส่งออกสินค้าการเกษตรและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. [ออนไลน์]. 11 กันยายน 2562. แหล่งที่มา: https://bit.ly/3rL04Yz

ประชาชาติธุรกิจ. 2564. รถไฟจีน-ลาวขาดดุลเพิ่ม สินค้าทะลัก 200 ตู้ถล่มไทย. [ออนไลน์]. 18 ธันวาคม 2564. แหล่งที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-823947

ไทยโพสต์. 2564. มองรถไฟสายจีน-ลาว-ไทย ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์. [ออนไลน์]. 6 ธันวาคม 2564. แหล่งที่มา: https://www.thaipost.net/columnist-people/39316/

BBC News ไทย. 2564. รถไฟลาว-จีน: เปิดประสบการณ์ 2 ชั่วโมง เวียงจันทน์-หลวงพระบาง ที่ความเร็ว 155 กม. [ออนไลน์]. 25 ธันวาคม 2564. แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/59764529

BBC News ไทย. 2564. รถไฟลาว-จีน: 6 เรื่องน่ารู้ของโครงการมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทเชื่อมคุนหมิง-เวียงจันทน์. [ออนไลน์]. 2 ธันวาคม 2564. แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-59498032

อภิชญาณ์ จึงตระกูล, สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และศุทธาภา นพวิญญูวงศ์. 2564. เปิดหวูดรถไฟจีน-ลาว: นัยต่อเศรษฐกิจไทย. [ออนไลน์]. 2564 แหล่งที่มา: https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/DocLib14/RL_china-laos%20railway.pdf

วรากรณ์ สามโกเศศ. 2564. ข้อมูล “รถไฟจีน-ลาว”. [ออนไลน์]. 27 ธันวาคม 2564. แหล่งที่มา https://www.bangkokbiznews.com/columnist/979571

Xinhua. 2022a. China-Laos Railway transports over 1 million passengers since launch. [Online]. 30 January 2022. Retrieved from: http://www.news.cn/english/20220130/1002b86924c441a9af69edf0b3df3d58/c.html?fbclid=IwAR32epQoiNJ7DdyxS-gtxX4cuEQm916rJWYg5wVqkWk1aHAeOdfDSo4HHjg

Xinhua. 2022b. Intl freight via China-Laos Railway exceeds 20,000 tonnes in Spring Festival holiday. [Online]. 7 February 2022. Retrieved from: http://www.xinhuanet.com/english/20220207/78b7ffdd74dc43d09f0492877bf25425/c.html?fbclid=IwAR0pehaT2CjWApb3kGG-YO_VHDSkNvWFmZlouAx0KecNFbb5WLIeWrLbIgc