วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ร่มสีเทา: คันเก่าแต่เอามาเล่าใหม่

ขณะที่เดินๆ อยู่และเพลงใน iPod ของผมก็วนมาถึงเพลงร่มสีเทา ทำให้ความคิดในครั้งเก่าก่อนที่จะเขียนเกี่ยวกับเพลงนี้ได้โผล่ขึ้นมาย้ำเตือนผมอีกครั้ง

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า หลายๆ คนคงรู้จัก เคยได้ยินเพลง และชื่นชอบเพลง "ร่มสีเทา" ของวงวัชราวลี พลัส เช่นเดียวกับผม ซึ่งผมเองต้องขอคารวะถึงผู้ประพันธ์เพลงนี้ด้วยใจจริง เนื่องจากเพลงนี้ ถือเป้นเพลงที่มีความไพเราะในเชิงดนตรีอย่างมาก มีการใช้ภาษางดงามจนบรรยายให้เห็นภาพตามไปได้ และที่สุด ก็คือ แฝงไปด้วยธรรมะและปรัชญาในการใช้ชีวิตอีกด้วย 


http://www.youtube.com/watch?v=P5VFTPL3Er4


ในฐานะที่ผมเป็นคนศึกษาธรรมะมาบ้าง ผมมองว่า เพลงนี้เป็นเพลงดีที่สุดเพลงหนึ่งในรอบ 10 ปีของไทยเลยก็ว่าได้ (อย่างน้อยก็ในความคิดของผม) เนื่องจากเพลงนี้ได้รวบรวมเอาข้อธรรมะหลายประการมาบรรจุอยู่ภายในเพลงนี้ และผมก็เชื่อว่า ใครหลายคนก็อาจจะเคยใช้เพลงนี้เป็นสะพานข้ามห้วงยามแห่งความทุกข์ และทำให้เข้าใจโลกตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในเรื่องนี้ ผมจะชี้ให้เห็นในสิ่งที่ผมมองเห็นว่า ช่วงไหนวรรคใดบ่งบอกถึงเกล็ดธรรมมะข้อใดบ้าง แต่ต้องขอออกตัวเลยว่า ตัวผมเองคงมิกล้าอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นผู้รู้ในข้ออรรถข้อธรรมอย่างกระจ่างแจ้ง และยิ่งไม่กล้าไปเปรียบกับพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ หลวงตาผู้ทรงธรรมทั้งหลายอีกด้วย หากแต่เป็นผู้สนใจใคร่รู้ในธรรม ก็แค่นั้นเอง ฉะนั้น หากสิ่งที่ผมคิด ผมพูด หรือผมได้เขียนออกมา มันบิดเบือนจากธรรมะ จากความเป็นจริง หรือก้าวล่วงละเมิดต่อผู้อื่น ผมก็กราบขออภัยในความรู้อันน้อยนิดของผมด้วย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมอยากแค่จะแสดงมุมมองต่อเพลง "ร่มสีเทา" นี้ก็เท่านั้นเอง ซึ่งอาจจะมีคนคิดได้ก่อนผมมากโขแล้วด้วย

ขอเริ่มต้นจากเนื้อเพลง ซึ่ง copy มา และจะแสดงความคิดเห็นเป็นวรรคตอนไป

ฉันเฝ้าถามความสุขอยู่ที่ไหน ชายที่เขาเดินผ่านฉันเข้ามา
บอกกับฉันขอร่มสักคัน แต่ว่าที่มือเขาก็มีหนึ่งคัน  
ก็แปลกใจ ท่ามกลางหยดฝนโปรยปราย ==> ผมเชื่อว่า คนเราทุกคนนั้นล้วนที่จะแสวงหาความสุข แต่ในหลายครั้งก็มีเหตุการณ์แปลกๆ เกินขึ้น อย่างในเพลงนี้ ขณะที่ฝนกำลังตก แต่คนที่ถือร่มอยู่ในมือแล้ว ยังจะมาขอร่มกับอีกคนนึง (ที่อาจจะไม่มีร่มด้วยซ้ำ) หากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ผมก็เชื่อว่า คนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องไม่ส่งร่มให้กับคนที่ขออย่างแน่นอน พร้อมกับตั้งคำถามว่า "คุณก็มีร่มอยู่แล้ว จะขอทำไมอีก" และก็จบเพียงแค่นั้น โดยไม่ได้คิดต่อ หรือมองในมุมอื่นอีกเลย

เขาก็ถามฉันว่าอยากสุขไหม ลองหุบร่มในมือสักพักหนึ่ง 
และเงยหน้ามองวันเวลา มองหยดน้ำที่มันกระทบตา 
ยังเปียกอยู่ใช่ไหม หรือไม่มีฝน  ==> จริงแล้ว ความสุขอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณยอมรับความจริง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับว่าชีวิตเรานี้ตกอยู่ภายใต้สภาวะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หากคุณทำได้เท่านี้ ชีวิตคุณก็ก้าวผ่านความทุกข์ได้แล้ว และชีวิตก็จะมีความสุขสงบมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ซึ่งในเพลงนี้ ตามความคิดของผม (ซึ่งอาจจะตีความผิดได้) ผู้ประพันธ์เพลงเปรียบเทียบความจริงหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไว้เหมือนกับหยดฝน ขณะที่สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือปกคลุมความจริงไว้ ก็คือ "ร่ม" ที่ทำให้เราอยู่ในอารมณ์สีเทานั่นเอง หากพูดตามภาษาธรรมแบบคิดเองเออเอง ก็คงหมายความถึง ตัวอวิชชา (ความไม่รู้) และตัณหาอุปาทานต่างๆ นั่นเอง ฉะนั้น หากเราหุบร่ม หรือขจัดตัวไม่รู้ไปได้ และสามารถยอมรับและเข้าถึงความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ในโลกได้ แม้เพียงชั่วคราว เราก็พ้นทุกข์แบบชั่วคราวแล้ว

บนท้องฟ้าไม่มีอะไรแน่นอน ถ้ามองจากตรงนี้ 
เดี๋ยวก็มืด แล้วก็สว่าง 
อาจจะมีฝนก่อเป็นพายุ หรือลมลอยปลิวอยู่แค่นั้น 
สุขที่เคยเดินทางตามหามานาน 
ไม่ได้ไกลที่ไหน อยู่แค่นี้เอง  ==> แท้จริงแล้ว ทุกสิ่งอยุ่ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง กล่าวคือ มีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้าเอง แม้จะกว้างใหญ่แสนไกลแค่ไหน ก็ยังมีการแปรผันจากความมืดไปสู่ความสว่าง และจาความกสว่างไปสู่ความมืด แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า "ใจ" ของเราพร้อมที่จะยอมรับและเข้าใจถึงความไม่แน่นอนจากสิ่งรอบตัวนั้นหรือเปล่า สาเหตุหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นต้นตอของความทุกข์ ก็คือ คนเราไม่พร้อมที่จะยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีอัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิมานะ ความคิด ความเชื่อ ของตนเอง

ยิ้มฉันยิ้มมากกว่าทุกครั้ง 
สุขที่ฉันตามหามาแสนนาน 
อยู่ตรงนี้ แค่เพียงเข้าใจ อย่าไปยึด 
ถือมันและกอดไว้ ก็แค่ร่มเท่านั้น เท่านั้น ==> ท่อนนี้ กำลังจะชี้ให้เห็นถึง "ความไม่มีตัวตน" หรือ "ไม่มีสิ่งไหนที่เป็นของเรา"

บนท้องฟ้าไม่มีอะไรแน่นอน ถ้ามองจากตรงนี้ 
เดี๋ยวก็มืด แล้วก็สว่าง 
อาจจะมีฝนก่อเป็นพายุ หรือลมลอยปลิวอยู่แค่นั้น 
สุขที่เคยเดินทางตามหามานาน 
ไม่ได้ไกลที่ไหน อยู่แค่นี้เอง ==>  ท่อนนี้ ช่วยย้ำเตือนในเรื่องของ "อนิจจจัง" ความแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลอีกครั้ง ให้เรายอมรับความจริงของโลกว่าถูกครอบด้วยกฎแห่งไตรลักษณ์ และให้คำแนะนำเราว่า "ความสุข" ที่เราตามหานั้น ไม่ได้อยู่ที่ใดเลย แท้จริงแล้ว มันอยู่ที่ "ใจ" อันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด ซึ่งมันขึ้นอยู่ว่าเราจะเลือกใช้ "ใจ" จะมองสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างไร นั่นเอง หากดูจากเนื้อเพลงได้พูดถึงเรื่องสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยยก "ธาตุลม" มาประกอบ หากเป็นคนมองด้วยใจที่เป็นแง่ร้าย ก็อาจจะคิดว่ามันเป็นพายุลูกใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้ามาใส่ตัวเรา เป็นปัญหา เป็นความทุกข์อันหนักหน่วงของเรา ในทางกลับกัน หากเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ก็จะพบว่าแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพายุลูกใหญ่ ไต้ฝุ่น เฮอริเคน หรือมรสุมต่างๆ นานา แท้จริงแล้ว มันก็คือ "ธาตุลม" ที่กำลังลอยปลิวอยู่ เท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ต่างกันไปบ้าง ก็คือ เรื่องของความเร็ว และขนาดของลม ก็แค่นั้น

ฉันเห็นเธอถือร่มผ่านมา เต็มไปด้วยร่องรอย 
และคราบน้ำตา ฉันได้เห็นแล้วมันปวดใจ 
ไม่ใช่เพียงแค่เธอที่ทุกข์ ฉันก็เป็นเหมือนเธอ 
เธอได้ยินไหม อยากขอให้เธอลองโยนร่มที่ถือเอาไว้หนัก 
โยนมันออกไป ==> สำหรับท่อนนี้ ผมมองว่า การที่เราถือร่มไว้ หรือถูกครอบงำด้วย อวิชชา และตัณหาอุปทานต่างๆ มันสร้างความทุกข์ ความโศกเศร้า เสียใจ ให้แก่เรา ไม่ใช่เฉพาะตัวเราเท่านั้น แต่อาจจะรวมไปถึงคนอื่นๆ รอบข้างตัวเราที่เค้ามองเห็น หรือมีสัมพันธภาพกับเราด้วย และทางออกของเพลงนี้ ก็บอกไว้ว่า ทางหนึ่งที่อาจช่วยในการบรรเทาทุกข์ได้ ก็คือ ความพยายามที่จะลดทอน จนกระทั่งสลัดความไม่รู้ทิ้งไป ออกไปเฉกเช่น การโยนร่มสีเทาออกไป นั่นเอง เนื่องด้วยหากเรายังคงถือร่มสีเทาครอบตัวเราไว้ เราจะไม่มีวันได้สัมผัสถึงความจริง ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง จนกระทั่งอาจจะจมดิ่งหมุนเวียนอยู่ในห้วงทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

บนท้องฟ้าไม่มีอะไรแน่นอน ถ้ามองจากตรงนี้ 
เดี๋ยวก็มืด แล้วก็สว่าง 
อาจจะมีฝนก่อเป็นพายุ หรือลมลอยปลิวอยู่แค่นั้น 
สุขที่เคยเดินทางตามหามานาน ไม่ได้ไกลที่ไหน ==> กลับมาย้ำเตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลง หรือ "อนิจจัง" อีกครั้ง และจากตรงนี้ พูดได้สั้นๆ ว่า "จะสุข จะทุกข์ มันอยู่ที่ใจ"

อย่าไปยึด อย่าไปถือ 
อย่าไปเอามากอดไว้ ก็จะไม่เสียใจ 
ตลอดชีวิต ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใคร 
จะทุกข์ จะสุขแค่ไหน ก็อยู่ที่จะมอง ==> บทสรุปและทางออกของปัญหาจากเพลงนี้ ก็คือ เราต้องปล่อยวาง อย่าไปยึดถือในอัตตาของเรา ซึ่งครอบคลุมถึง การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ และการปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ล้วนเป็นตัวทุกข์ทั้งสิิ้น และที่้สำคัญ คือ "ใจ" ที่ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากใจเรามองว่า เป็นทุกข์ มันก็จะเป็นทุกข์ หากมองว่า เป็นสุข มันก็จะเป็นสุข หรือกล่าวอย่างรวบรัด คือ จะสุขจะทุกข์อยู่ที่ใจ นั่นเอง เนื่องจาก "ใจ" หรือความคิด มักจะชี้นำการกระทำเสมอ หากพูดแบบภาษาธรรมขึ้นมาหน่อย ก็กล่าวได้ว่า "จิตเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน"

และผมขออาราธนาโอวาทธรรมของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ มาย้ำเตือนว่า "จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) ฉะนั้น ทุกข์เกิดที่จิต ก็ต้องดับที่จิต" (จากหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม)


สุดท้ายนี้ ผมขอจบเรื่องนี้ด้วยประโยคที่ว่า

"อดทนเวลาที่ฝนพรำ
อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง
เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง
ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ
ว่ามันคุ้มค่า (แค่ไหนที่เฝ้ารอ)"
และ "หากหากไม่รู้จักเจ็บปวดก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ"

ใช่ครับ นั่นเป็นเพลง "ฤดูที่แตกต่าง"  ซึ่งในมุมของผม ก็คิดว่าเป็นอีกหนึ่งเพลงที่ดีที่สุดในรอบหลายสิบปีของไทยเลยเทียว (อย่างน้อยก็ในความคิดของผม)

นับว่าเป็นบุญที่ได้เกิดมาในผืนแผ่นดินไทย เป็นบุญที่ได้เป็นคนไทย และที่สุด คือ เป็นบุญวาสนาที่ได้มาพบเจอกับพระพุทธศาสนา (ที่เป็นประเสริฐที่สุดในโลก อย่างน้อยก็ในความคิดของผม) อันเป็นหนทางที่จะช่วยลดทอนความทุกข์ของคนให้เบาบางจางคลายไปได้ และถึงที่สุดแล้ว สามารถนำเราไปสู่ความดับทุกข์ได้ นั่นเอง

ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่ประคับประคองผมมาถึงทุกวันนี้ ด้วยใจจริง



สื่อออนไลน์: ความแตกต่างที่เหมือนกัน

ระหว่างที่เดินทางไปเรียนหนังสือกว่าห้าหกวัน คิดไปคิดมา ก็พอมีไอเดียจะมาแชร์ให้อ่านกันบ้าง ประเด็นในวันนี้ คือ เรื่องของ "สื่อออนไลน์" นั่นเอง หลายๆ คน คงได้ยินได้ฟังและคุ้นชินกับ "Social Media" กันมาก ซึ่งผมเองก็มิใช่ผู้รู้ หรือทรงภูมิทางด้านนี้แต่อย่างใด เพียงแต่ได้นั่งคิดและสังเกตอะไรบางอย่างได้เท่านั้นเอง

เอาเข้าจริง "Social Media: สื่อออนไลน์" ตามความรู้ความเข้าใจเท่าหางอึ่งของผมนั้น ได้สรุปออกมาว่า "มันเป็นเครื่องมือ ช่องทาง วิธีการที่คนเราใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยพึ่งพาระบบไร้สายหรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั่นเอง" ซึ่งในปัจจุบัน สื่อออนไลน์ที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Facebook, Twitter, SocialCam, Instagram และ LINE เป็นต้น โดยสื่อแต่ละประเภทก็มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป ซึ่งท่านผู้อ่านที่คร่ำหวอดในโลกออนไลน์คงทราบกันดีอยู่แล้ว และผมจะไม่ขอพูดในประเด็นนั้น

แต่สิ่งที่ผมสังเกตได้ (อาจจะมีคนมองออกก่อนผมซะอีก) เหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสื่อออนไลน์มากมายขนาดนี้ ก็คือ ต้องการสร้างความแตกต่างให้ผู้ใช้ (ซึ่งต่อไปผมขอเรียกว่าเป็น "นักเลงออนไลน์") ทั้งนี้ เนื่องจากในสังคมไทยทุกวันนี้ ผู้คนต่างมุ่งแสวงหาความแตกต่าง และความโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ ประกอบกับการใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องยกสถานะของตนเองนั้น มีต้นทุนที่ต่ำจนแทบจะไม่มีเลย (หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น Free Goods ไปแล้ว)  สังเกตได้จากนักเลงออนไลน์คนหนึ่ง จะใช้สื่อออนไลน์หลายประเภทที่กำลัง In Trend พร้อมๆกัน 

 ซึ่งหากพูดตามภาษาชาวบ้านๆ ก็คือ สื่อออนไลน์เหล่านั้น ตอบโจทย์นักเลงออนไลน์เข้าอย่างจังเบ้อเร้อ รวมไปถึงการเข้ามาเติมเต็มบางอย่างที่หายไปให้แก่ผู้ใช้บริการ อาทิ ความเป็นเพื่อน คำชื่นชมต่างๆนานา (ที่อาจจะเคยได้รับ หรือไม่เคยได้รับก็ตาม) หรืออาจใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ และเช็คข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆของคนในแวดวงเดียวกัน เป็นต้น โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว แต่สิ่งที่ต้องลงทุนเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า ก็คือ การ Act ท่าถ่ายรูป, การ Post ข้อความต่างๆ หรือแม้กระทั่งคอยตรวจตราจับจ้องความเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากจะพูดแบบนักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คงต้องบอกว่า ปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์นั้น แสดงให้เห็นถึง  Demand & Supply of Social Media ได้ดุลยภาพกันพอดิบพอดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ อาจจะเป็นในด้าน Dark ของโลกออนไลน์ซะมาก หรือใช้มุมมองแบบ Pessimism นั่นเอง หากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซ์ (Marx) มีแนวคิดว่าด้วย "ลัทธิบูชาสินค้า" หรือ "ลัทธิบูชาเงิน" ซึ่งหมายถึง การที่เงินเข้ามาแทนความสัมพันธ์ในวิถีการผลิต (mode of production) ระหว่างคนกับคน นั่นเอง ในสถานการณ์ Modernization เช่นนี้ ที่มี internet เป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงอานุภาพมหาศาล ไม่เพียงแต่ คนในสังคมจะถูกเกณฑ์เข้าสู่ ลัทธิบูชาสินค้าและเงินตราแล้ว ยังถูกกวาดต้อนเข้าสู่ ลัทธิแห่งสื่อออนไลน์ อีกด้วย ซึ่งลักษณะสำคัญของลัทธิออนไลน์นี้ (เท่าทีสังเกตได้)  มีดังนี้
1. จะเป็นผู้ที่แสดงตัวตนในโลกออนไลน์เกือบตลอดเวลา ไม่เว้น เวลานอนหลับ เวลาเข้าห้องน้ำ และเวลาเรียน เป็นต้น
2. มักจะมีการโต้ตอบบนพื้นที่ส่วนตัวในโลกออนไลน์อย่างทันท่วงที แต่มักจะคิดอะไรหรือ Take action ได้ไม่ค่อยมากนัก นอกจาก Like Share Follow และคำพูดสั้นๆ อย่าง อิอิ หุหุ อ่านะ เป็นต้น
3. บางคนที่ Advance มากขึ้น ก็นำสื่อออนไลน์นี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผ่านทางการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้า หรืออาจพูดได้ว่าเป็นช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ นั่นเอง

ซึ่งที่พูดมายืดยาวนั้น อาจจะไม่เกี่ยวกับชื่อเรื่องสักเท่าใด ก็เลยต้องขอสรุปให้เข้าประเด็นก่อนที่จะออกทะเลมากไปกว่านี้ ความคิดที่อยากจะเสนอในเรื่องนี้ ก็คือ ปัจจุบันนี้ สื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของคนเรามากซะเหลือเกิน มีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และแต่ละประเภทพยายามที่จะสร้างความแตกต่างจากสื่อต่างประเภทในแง่ของการใช้งาน ความสะดวก ความง่ายในการเข้าถึง รวมไปถึงประโยชน์จากการใช้สอย แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกประเภท คือ สื่อออนไลน์ทุกประเภท มีส่วนในการลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนลง หรืออาจพูดได้ว่า คนไม่อยากจะพูดคุยติดต่อสื่อสารกันโดยตรง (direct communication) แบบ Face to Face แต่กลับไปให้ความสนใจต่อการสื่อสารผ่านตัวกลาง หรือสื่อออนไลน์แทน 

ผลที่เกิดขึ้น ก็คือ กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมนุษย์ เช่น การกินข้าวร่วมกัน การเล่นกีฬา การเรียนหนังสือในห้องเรียน การออกไปเที่ยวข้างนอกหรือการเปลี่ยนสถานที่เพื่อหาประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ เป็นต้น เริ่มลดความสำคัญลงและจางหายไป พูดง่ายๆ คือ เราอาจถูกลดทอนความเป็นคนลง เนื่องจากพึ่งพาตัวกลาง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มากเกินไป  จนในที่สุดอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในเชิงโครงสร้างต่างๆ ตามมาอีกมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรมเนื่องจากลูกหมกมุ่นกับสื่อออนไลน์มากเกินไป และพ่อแม่ไม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นและความเอาใจใส่แก่ลูก , ปัญหาความรุนแรงต่างๆ เนื่องจากสื่อออนไลน์ที่แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีการบิดเบือนข้อมูล เป็นต้น