วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สื่อออนไลน์: ความแตกต่างที่เหมือนกัน

ระหว่างที่เดินทางไปเรียนหนังสือกว่าห้าหกวัน คิดไปคิดมา ก็พอมีไอเดียจะมาแชร์ให้อ่านกันบ้าง ประเด็นในวันนี้ คือ เรื่องของ "สื่อออนไลน์" นั่นเอง หลายๆ คน คงได้ยินได้ฟังและคุ้นชินกับ "Social Media" กันมาก ซึ่งผมเองก็มิใช่ผู้รู้ หรือทรงภูมิทางด้านนี้แต่อย่างใด เพียงแต่ได้นั่งคิดและสังเกตอะไรบางอย่างได้เท่านั้นเอง

เอาเข้าจริง "Social Media: สื่อออนไลน์" ตามความรู้ความเข้าใจเท่าหางอึ่งของผมนั้น ได้สรุปออกมาว่า "มันเป็นเครื่องมือ ช่องทาง วิธีการที่คนเราใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยพึ่งพาระบบไร้สายหรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั่นเอง" ซึ่งในปัจจุบัน สื่อออนไลน์ที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Facebook, Twitter, SocialCam, Instagram และ LINE เป็นต้น โดยสื่อแต่ละประเภทก็มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป ซึ่งท่านผู้อ่านที่คร่ำหวอดในโลกออนไลน์คงทราบกันดีอยู่แล้ว และผมจะไม่ขอพูดในประเด็นนั้น

แต่สิ่งที่ผมสังเกตได้ (อาจจะมีคนมองออกก่อนผมซะอีก) เหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสื่อออนไลน์มากมายขนาดนี้ ก็คือ ต้องการสร้างความแตกต่างให้ผู้ใช้ (ซึ่งต่อไปผมขอเรียกว่าเป็น "นักเลงออนไลน์") ทั้งนี้ เนื่องจากในสังคมไทยทุกวันนี้ ผู้คนต่างมุ่งแสวงหาความแตกต่าง และความโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ ประกอบกับการใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องยกสถานะของตนเองนั้น มีต้นทุนที่ต่ำจนแทบจะไม่มีเลย (หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น Free Goods ไปแล้ว)  สังเกตได้จากนักเลงออนไลน์คนหนึ่ง จะใช้สื่อออนไลน์หลายประเภทที่กำลัง In Trend พร้อมๆกัน 

 ซึ่งหากพูดตามภาษาชาวบ้านๆ ก็คือ สื่อออนไลน์เหล่านั้น ตอบโจทย์นักเลงออนไลน์เข้าอย่างจังเบ้อเร้อ รวมไปถึงการเข้ามาเติมเต็มบางอย่างที่หายไปให้แก่ผู้ใช้บริการ อาทิ ความเป็นเพื่อน คำชื่นชมต่างๆนานา (ที่อาจจะเคยได้รับ หรือไม่เคยได้รับก็ตาม) หรืออาจใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ และเช็คข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆของคนในแวดวงเดียวกัน เป็นต้น โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว แต่สิ่งที่ต้องลงทุนเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า ก็คือ การ Act ท่าถ่ายรูป, การ Post ข้อความต่างๆ หรือแม้กระทั่งคอยตรวจตราจับจ้องความเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากจะพูดแบบนักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คงต้องบอกว่า ปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์นั้น แสดงให้เห็นถึง  Demand & Supply of Social Media ได้ดุลยภาพกันพอดิบพอดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ อาจจะเป็นในด้าน Dark ของโลกออนไลน์ซะมาก หรือใช้มุมมองแบบ Pessimism นั่นเอง หากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซ์ (Marx) มีแนวคิดว่าด้วย "ลัทธิบูชาสินค้า" หรือ "ลัทธิบูชาเงิน" ซึ่งหมายถึง การที่เงินเข้ามาแทนความสัมพันธ์ในวิถีการผลิต (mode of production) ระหว่างคนกับคน นั่นเอง ในสถานการณ์ Modernization เช่นนี้ ที่มี internet เป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงอานุภาพมหาศาล ไม่เพียงแต่ คนในสังคมจะถูกเกณฑ์เข้าสู่ ลัทธิบูชาสินค้าและเงินตราแล้ว ยังถูกกวาดต้อนเข้าสู่ ลัทธิแห่งสื่อออนไลน์ อีกด้วย ซึ่งลักษณะสำคัญของลัทธิออนไลน์นี้ (เท่าทีสังเกตได้)  มีดังนี้
1. จะเป็นผู้ที่แสดงตัวตนในโลกออนไลน์เกือบตลอดเวลา ไม่เว้น เวลานอนหลับ เวลาเข้าห้องน้ำ และเวลาเรียน เป็นต้น
2. มักจะมีการโต้ตอบบนพื้นที่ส่วนตัวในโลกออนไลน์อย่างทันท่วงที แต่มักจะคิดอะไรหรือ Take action ได้ไม่ค่อยมากนัก นอกจาก Like Share Follow และคำพูดสั้นๆ อย่าง อิอิ หุหุ อ่านะ เป็นต้น
3. บางคนที่ Advance มากขึ้น ก็นำสื่อออนไลน์นี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผ่านทางการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้า หรืออาจพูดได้ว่าเป็นช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ นั่นเอง

ซึ่งที่พูดมายืดยาวนั้น อาจจะไม่เกี่ยวกับชื่อเรื่องสักเท่าใด ก็เลยต้องขอสรุปให้เข้าประเด็นก่อนที่จะออกทะเลมากไปกว่านี้ ความคิดที่อยากจะเสนอในเรื่องนี้ ก็คือ ปัจจุบันนี้ สื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของคนเรามากซะเหลือเกิน มีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และแต่ละประเภทพยายามที่จะสร้างความแตกต่างจากสื่อต่างประเภทในแง่ของการใช้งาน ความสะดวก ความง่ายในการเข้าถึง รวมไปถึงประโยชน์จากการใช้สอย แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกประเภท คือ สื่อออนไลน์ทุกประเภท มีส่วนในการลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนลง หรืออาจพูดได้ว่า คนไม่อยากจะพูดคุยติดต่อสื่อสารกันโดยตรง (direct communication) แบบ Face to Face แต่กลับไปให้ความสนใจต่อการสื่อสารผ่านตัวกลาง หรือสื่อออนไลน์แทน 

ผลที่เกิดขึ้น ก็คือ กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมนุษย์ เช่น การกินข้าวร่วมกัน การเล่นกีฬา การเรียนหนังสือในห้องเรียน การออกไปเที่ยวข้างนอกหรือการเปลี่ยนสถานที่เพื่อหาประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ เป็นต้น เริ่มลดความสำคัญลงและจางหายไป พูดง่ายๆ คือ เราอาจถูกลดทอนความเป็นคนลง เนื่องจากพึ่งพาตัวกลาง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มากเกินไป  จนในที่สุดอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในเชิงโครงสร้างต่างๆ ตามมาอีกมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรมเนื่องจากลูกหมกมุ่นกับสื่อออนไลน์มากเกินไป และพ่อแม่ไม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นและความเอาใจใส่แก่ลูก , ปัญหาความรุนแรงต่างๆ เนื่องจากสื่อออนไลน์ที่แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีการบิดเบือนข้อมูล เป็นต้น 

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่นำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับการใช้สื่อออนไลน์ ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์

    ตอบลบ