วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กฎแห่งอนิจจังกับการจากไปของลูกแมว

วันนี้ก็มีเรื่องราวหลายอย่างเข้ามากระทบกับอารมณ์ ความรู้สึก แต่เรื่องที่สะเทือนใจมากที่สุดของวันนี้ ก็คือ ลูกแมว 3 ตัว ที่มาอาศัยอยู่ด้วยนั้น ได้ตายจากไป

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้กระตุ้นเตือนและทำให้เราได้ระลึกถึง "กฎของอนิจจัง" หรือกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ว่า สิ่งต่างๆ นั้นล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ทั้งสิ้น 

ในกรณีของลูกแมวทั้งสาม กฎของอนิจจัง ได้เกิดขึ้นหรือทำงานรวดเร็วกว่าวัฏจักรของแมวตัวอื่นๆ มันเกิดมาลืมตาและตั้งอยู่ ดูโลกได้เพียง 2 เดือน และสุดท้ายก็แตกดับไป ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ใครหลายๆ คนรู้สึกโศกเศร้ากับการจากไปอย่างกะทันหันของมัน ขณะที่แม่แมว ก็เฝ้าร้องเรียกเพรียกหาแต่ลูกของมัน สร้างความสลดสังเวชแก่ผู้คุ้นเคยไม่น้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สะท้อนให้เห็นตามความเป็นจริง ก็คือ 

ชาติปิ ทุกขา (แม้การเกิดก็เป็นทุกข์)  ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม คน หรือแมว เมื่อมีการเกิดขึ้น ก็ถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์แล้ว

ชะราปิ ทุกขา (แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์) เมื่อเวลาผ่านไป เกิดความเปลี่ยนแปลง ความแก่เฒ่า เข้ามาเยือน ก็ทำให้เป็นทุกข์ได้

มะระณัมปิ ทุกขัง (แม้ความตายก็เป็นทุกข์) สิ่งใดก็ตามที่ต้องแตกดับไป ก็นำความทุกข์มาให้แก่ผู้ที่เฝ้ามองอยู่

โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา (แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์) อาการต่างๆ ที่แสดงออกว่า ล้วนแต่เป็นเครื่องบอกว่ากำลังเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

อัปปิเยปิ สัมปะโยโค ทุกโข (ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์) ข้อนี้ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก แต่ขอเสริมตรงที่ว่า การเป็นทุกข์เช่นนี้ เกิดขึ้นจากการที่เรายึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (อัตตานั่นเอง) และไปให้ความหมาย หรือตีคุณค่าของสิ่งต่างๆ ว่าเรารัก เราชอบ เราเกลียด เราชัง นั่นเอง

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข (ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์) ข้อนี้ ยิ่งชัดเจนเข้าไปอีก ไม่พูดอะไรเพิ่มเติมล่ะ

ตราบใดที่เราไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับความจริงทั้ง 6 ประการข้างต้น เราก็ึคงต้องวนเวียนอยู่ในทะเลทุกข์นี้อีกนานแสนนาน 

มาถึงตรงนี้ สิ่งที่พอจะทำได้ใำห้แก่ลูกแมวทั้ง 3 ที่จากไป ก็คือ ในเมื่อพวกเขาได้สิ้นเวร สิ้นกรรม ในการเสวยชาติเป็นแมวแล้ว ก็ขอให้ดวงวิญญาณทั้งสามได้ไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การจากไปของลูกแมวทั้ง 3 แม้จะนำมาซึ่งความทุกข์โศกให้กับใครหลายๆ คน ณ ที่แห่งนี้ แต่สำหรับผมแล้ว การตายของมันก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้ ช่วยกระตุ้นและย้ำเืตือนผมให้พิจารณาสภาวะธรรมดังกล่าวให้มากและละเอียดมากยิ่งขึ้น จนต้องกลับมาคิดว่า "หากวันใดวันหนึ่ง เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ กับเรา กับคนใกล้ตัว กับคนที่เรารักบ้าง เราตกอยู่ในสภาพแบบใด และจะผ่านมันไปได้หรือไม่ อย่างไร" เนื่องด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วย "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"

แต่ในทางพระพุทธศาสนาเอง เราก็สามารถก้าวผ่านกฎไตรลักษณ์ และข้ามหัวงน้ำโอฆะ ในสังสารวัฏนี้ได้ โดยอาศัยอริยสัจ 4 และการแทงตลอดด้วยสายปฏิจจสมุปบาท ซึ่งจะนำมาขยายความให้ในโอกาสต่อไป

ขอให้ทุกดวงจิตทุกดวงวิญญาณ จงมีแต่ความสุข สงบ และสันติ เทอญ...!!!


วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เคล็ด (ไม่) ลับในการทำงาน

           หลังจากห่างหายไป 2-3 วัน เนื่องจากภารกิจที่ค่อนข้างรัดตัว ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบมาราธอนกว่า 5 ชั่วโมง การสอนหนังสือแบบ Paralympic และการพูดคุย ชี้แจง ทำความเข้าใจกับนักเรียน กว่าจะผ่านพ้นแต่ละวันไปได้ ก็สร้างความเหน็ดเหนื่อยมิใช่น้อย

           ในวันนี้ ก็เลยจะประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นมุมมองของกระผมแต่เพียงถ่ายเดียว มิได้มีเจตนาจะล่วงละเมิด สร้างความเสียหาย หรือแม้กระทั่งจะบิดเบือนความจริงของผู้ใด ฉะนั้น ผู้อ่านก็ควรจะใช้วิจารณญาณในการรับรู้ รับฟัง ในสิ่งที่ผมนำเสนอ 

           ย้อนกลับไปเมื่อวันพุธที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมนัดแรกของคณะใหม่ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ใน จ.หนองคาย โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ คณบดีฯ ต้องการจะมาดำเนินการสรรหาคณะกรรมการคณะ อีกทางหนึ่ง ท่านเองต้องการที่จะพบปะพูดคุย และร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับอาจารย์ในคณะ สิ่งที่ผมสังเกตได้ 2 ประการ คือ

         ประการที่ 1  ผู้ที่จะกลายเป็นผู้บริหารในอนาคตบางท่าน ยังขาดวิสัยทัศน์ในการทำงานอยู่มาก ขาดทักษะในการสื่อสารภายในองค์กร  ไม่ทราบถึงสถานะ  บทบาท และหน้าที่ของตนเอง  ไม่รู้จักการจัดลำดับความสำคัญของงาน รวมไปถึงไม่สามารถจะตัดสินใจดำเนินการในเรื่องสำคัญได้อย่างถูกต้องและเด็ดขาด ที่ต้องพูดเช่นนี้ เพราะ ในฐานะที่เป็นเจ้าบ้าน บุคคลนั้น ไม่สามารถจัดการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเตรียมอาหารกลางวัน ผมมองว่า "สอบไม่ผ่าน" เนื่องจากต้องมีการสั่งอาหารกลางวันกะทันหัน และมิหนำซ้ำยังเรียกเก็บเงินกับคณบดี อีกด้วย ทำให้ผมต้องพูดจากใจจริงว่า "มีความเป็นกังวล และรู้สึกเป็นห่วงคณะอยู่ไม่น้อย" หากได้ผู้บริหารประเภทนี้ มาบริหารงานองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก

       ประการที่ 2  แม้จะมีการปรับเปลี่ยนโครงการสร้างทำงานไปสู่รูปแบบใหม่ ที่(น่าจะ) มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพมากกว่า บุคคลากรภายในคณะบางท่าน ยังโหยหาระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) และยังคงอิงกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนอยู่ (Reciprocal) โดยอาศัยการช่วงชิงพื้นที่และพยายามจะดึงเอาบุคคลภายนอกที่ตนเองมีสายสัมพันธ์อันดีด้วยนั้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ เนื่องจากมันไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอนาคต หากทำเช่นนี้แล้ว แทนที่ความพยายามที่ผ่านมาจะเป็น "การสลายตัว เพื่อริเริ่มสิ่งใหม่" มันจะวนกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "วงจรอุบาทว์" อีกครั้ง ซึ่งจะไม่ส่งผลดีกับใครเลย นอกจากพวกพ้องของตนเอง

         เหตุการณ์ต่อมา เป็นการประชุมในระดับที่เล็กลงมา สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจมาก ก็คือ มันเป็นการประชุมที่ยาวนานมากที่สุดกินเวลาว่า 5 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง 4 ท่านเท่านั้น มันสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานหนักก็จริง แต่ในมุมมองของผม กลับเห็นว่า มันออกจะดูไร้ประสิทธิภาพไปหน่อย เพราะสามารถที่จะทำให้มันมีสาระเข้มข้น และกระชับได้มากกว่านี้ คำถามคือ ทำไมไม่ทำกัน?  และทำให้ผมต้องตั้งคำถามต่อเนื่องมาอีกว่า "ทำไมคนทำงานที่นี่ เค้าชอบทำงานที่เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพหรอกหรือ?" "มันมีวิธีที่ง่าย และมีประสิทธิภาพกว่าอยู่นะ แต่ทำไมพวกคุณไม่ทำกัน?" พูดก็พูดเถอะ ในสังคมไทยที่มีระบบอาวุโสอยู่ ผมก็คงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการบ่นในพื้นที่ส่วนตัว ก็เท่านั้นเอง

        จากเรื่องเล่าที่นำมาเสนอนี้ ทำให้ผมนึกถึงข้อธรรมะในหมวด 4  อันได้แก่ พรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 และอิทธิบาท 4 นั่นเอง 
        
        ในส่วนของการบริหารงานนั้น ผมมองว่า สังคหวัตถุ 4 (ธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน) ได้แก่ 
          1. ทาน คือ การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ความรู้วิทยาการ ธรรมะ ตลอดจนการให้อภัยกัน
          2. ปิยวาจา (หรือวาจาสุภาษิต) คือ การพูดคำจริง พูดด้วยไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความปรารถนาดี และพูดเหมาะสมกับสถานที่ และกาลเวลา)
          3. อัตถจริยา คือ การทำตัวให้เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่คณะ
          4. สมานัตตา คือ การประพฤติตัวให้เป็นกลาง มีความสม่ำเสมอ การวางตัวที่ดี นั่นเอง 


       นอกจากนั้น หากน้อมนำหลักธรรมตามสังคหวัตถุ 4 มาปฏิบัติร่วมกับพรหมวิหาร 4 (คุณสมบัติของความเป็นพรหม) อันประกอบไปด้วย เมตตา (อยากให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา (อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข) และอุเบกขา (การวางจิตให้เป็นกลาง ไม่ดีไม่ร้าย)  แล้วจะทำให้การบริหารงานใดๆ ก็ตามเป็นไปด้วยความราบรื่น และมีประสิทธิภาพ นั่นเอง

      สำหรับผู้ที่ประกอบการงานใดๆ ก็ตาม จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัย อิทธิบาท (ฐานแห่งความสำเร็จ) 4 ประการ ได้แก่
        1. ฉันทะ คือ ความพอใจต่องานที่ทำ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องรักที่จะทำงานนั้นๆ
        2. วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม แม้จะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด ก็ต้องอดทนและทำงานนั้นต่อไป
        3. จิตตะ คือ ความตั้งใจหมายมั่น ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจทำงานให้ลุล่วง หรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องมี "สมาธิ" กับงานที่กำลังทำอยู่
        4. วิมังสา คือ การพิจารณา ใคร่ครวญ และใช้ "ปัญญา" ในการตรวจสอบงาน ซึ่งถือว่าเป็น "กุญแจสำคัญ" ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

     สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมนำเสนอในวันนี้ น่าจะให้ข้อคิดกับใครหลายๆ คนและมีประโยชน์สำหรับที่นำไปปฎิบัติบ้างไม่มากก็น้อย

      ขอความสุขสงบและสันติ จงบังเกิดแก่ทุกท่าน..!!!

        
        
     

      
         
       

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มันเป็นเช่นนั้นเอง

           ในช่วงนี้ งานเขียนของผมจะหนักไปทางการบ่นรำพึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง และอาจจะเต็มไปด้วยกลิ่นไอของนักเขียน งานเขียนที่ผมชื่นชม เสียเป็นส่วนใหญ่
         
           พูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกว่าตอนนี้ชีวิตของผมนั้นแทบจะไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง สิ่งที่ผมครุ่นคิดในช่วงนี้ ก็มีอยู่ 2-3 อย่าง ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่อง จะได้ไปเรียนต่อหรือไม่ ถ้าไม่เรียนต่อแล้วจะไปทำอะไร หรือจะเลือกเส้นทางอีกสายหนึ่ง
         
            แต่คำตอบที่เกิดขึ้นในใจขณะนี้ ก็คือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามสิ่งที่มันจะเป็นตามเหตุปัจจัย หากคิดตามแบบฉบับท่านพุทธทาส ท่านก็คงบอกว่าให้ทำความเข้าใจกับหลัก "อิทัปปัจจยตา" และ "ตถตา" ให้ถ่องแท้ (ซึ่งหากผมกล่าวอะไรที่ผิดพลาดไป ก็ขออภัยในความรู้ไม่จริงของผมด้วย)

            อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกหนึ่งคำเตือนจากอาจารย์เสกสรรค์ ที่ว่า "ต้นทางอยู่คน...ปลายทางอยู่ฟ้า" ในเมื่อเราได้พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ก็คงต้องยอมรับมัน ในบางครั้ง เราไปไม่ถึงฝั่งฝัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องเสียใจ ร้องไห้ คร่ำครวญ เนื่องเพราะปลายทางแล้วเราไม่สามารถจะกำหนดกะเกณฑ์อะไรได้ อีกทั้งอย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำมันไปแล้ว

             มาถึงตอนนี้แล้ว ผมก็คงได้แต่บอกตัวเองว่า "ทำหน้าที่ของตัวเองตรงนี้ให้ดีที่สุด" แม้หลาย ครั้งจะรู้สึกเหนื่อยล้ากับบางอย่างที่เป็นอยู่ แต่ก็มีกำลังใจดีๆ จากหลายๆ คน ที่ทำให้ผมรู้ว่า ผมเองสามารถเป็นครูที่ดีได้และมีคุณค่ากับสังคม ยิ่งกว่านั้น มีคนเคยมากบอกว่า เค้ามีผมเป็น idol หรือเป็น role model สำหรับพวกเขา (ผมสาบานได้ว่า ผมเคยได้ยินแบบนั้นมาจริงๆ)  แต่ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อย  มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมแอบยิ้มได้ทุกครั้ง นั่นอาจเป็นเพราะ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นไอดอลสำหรับใครได้ และเป็นเพียงผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่ตรงนี้ มาทำในสิ่งที่อยากทำ ก็เท่านั้นเอง

           สุดท้ายนี้ ก็อยากจะบอกอีกครั้งว่า "ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ" ทุกๆ แรงใจที่มีให้กัน และขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสงบสันติในชีวิต

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เปิดพื้นที่ระบาย

            หลังจากเว้นว่างไปนานมากทีเดียวสำหรับการเขียนบล็อก สืบเนื่องจากความไม่พร้อมของตัวผมเองในหลายประการแต่พอดีได้เหลือบไปเห็นบล็อกของเพื่อนคนหนึ่งใน Facebook ก็เลยได้สติกลับมาว่า เราควรจะต้องกลับมาเริ่มเขียนบล็อกอีกครั้ง

           ในช่วงที่ผ่านมานั้น ตัวผมเองได้รู้สึกถึงความอึดอัด และความลำบากภายในใจตัวเองไม่น้อย ทั้งที่คนอื่นๆ จะมองว่าสิ่งที่ผมเป็นอยู่ หรือทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆ คนอาจจะไม่เชื่อนักว่าผมจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ หรือถ้าทำได้จะทำได้ดีขนาดไหนเชียว ซึ่งหน้าที่ที่ผมกำลังทำอยู่ (ในทางโลก) นั้น ก็คือ การประกอบสัมมาอาชีวะ ด้วยการเป็นครูบาอาจารย์นั่นเอง (หากใครรู้จักผมดี ก็จะรู้ว่า มันดูขัดกับบุคลิกของผมเองไม่น้อย)

           แต่พูดก็พูดเถอะ ผมเองก็มีความชื่นชอบในอาชีพนี้อยู่ไม่น้อย เพราะผมรู้สึกว่า นั่นเป็นพื้นที่ของผม ที่จะแสดงออกถึงความคิดความอ่านของผมที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว พูดง่ายๆ ก็คือ ผมรู้สึกว่า ผมมีอิสระในการทำงาน มีอิสระในการใช้ชีวิตพอสมควร จากอาชีพนี้ ซึ่งนั่นเป็นในด้านที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ถูกตีกรอบจากโครงสร้างการศึกษาไทย ที่บังคับให้ อาจารย์ที่มีเพียงวุฒิปริญญาโท อย่างผม ต้องไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น นั่นก็คือ ปริญญาเอก หรือพูดอีกอย่างว่า ทางมหาวิทยาลัยนั้นต้องการลูกจ้างที่มีคำนำหน้าว่า ดร. .... นู้น นี่ นั่น เท่านั้นเอง แต่หากไม่ไปเรียนต่อ ก็ต้องขอตำแหน่งทางวิชาการ อาทิ ผศ. รศ. หรือ ศ. มาประดับบารมี และวางไว้หน้าชื่อสมมติของตน

          สำหรับตัวผมเอง ก็ต้องยอมรับว่า จากคนที่เคยมีความคิดทวนกระแส มาถึงขณะนี้ ก็แทบจะไม่สามารถต้านทานอำนาจ ความรุนแรง และความเชี่ยวกรากของโลกได้ หากพิจารณาคำว่า "โลก" ตามเค้าความหมายเดิม (ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าจำมาผิดก็ขออภัย) แปลว่า "มืด" ขณะที่ เจริญ แปลว่า มาก ดังนั้น เมื่อเอามารวมกัน โลกเจริญ ก็เท่ากับแปลได้ว่า ยิ่งมีความมืดมนมากขึ้น ซึ่งมืดในที่นี้ หมายถึง มืดบอดต่อศีลต่อธรรม โลกถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปทานต่างๆ นั่นเอง หากมองให้ขยายไปอีกนิดนึง คน (ในทางพระพุทธศาสนา) หมายถึง ความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ฉะนั้น โลกที่ประกอบด้วยคนหมู่มาก ก็อาจจะหมายถึง ยิ่งมีความยุ่งเหยิง วุ่นวาย อย่างมากนั่นเอง และเป็นหนทางไปสู่ความืดมิด หากพวกคนเหล่านั้น ปราศจากคุณธรรมประจำใจ

         ที่พูดไปข้างต้น ก็เป็นความลำบากใจที่ผมเผชิญอยู่นั่นเอง เนื่องด้วยสถานที่ทำงานของผม จำเป็นต้องมีการติดต่อประสานงานกับคนมากหน้าหลายตา บ้างก็รู้เรื่อง บ้างก็ไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยสุขกับสิ่งที่ทำอยู่เท่าใดนัก ประกอบกับต้องตกอยู่ในข้อบังคับที่ต้องไปเรียน ยิ่งเพิ่มความหนักใจเข้าไปอีก มิใช่ว่าไม่พยายาม ขวนขวายหาที่เรียนต่อ แต่เป็นเพราะ ยิ่งหาเท่าไร ยิ่งทำมากเท่าไร ยิ่งไม่เจอ  และเริ่มรู้สึกท้อแท้ จนต้องหันกลับมามองตัวเองว่า อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงสำหรับตัวเองกันแน่


         แต่เอาเข้าจริง แล้วจิตใจผมก็ยังไม่แข็งแกรงพอที่จะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ ก็คงทำได้เพียงขอเปิดพื้นที่ในการบ่น พยายามทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยกำลังสติปัญญาที่มีอยู่ และหวังแค่ว่า สิ่งที่หวัง สิ่งที่ตั้งใจ จะได้ทำในเร็วนี้ เพื่อที่มุ่งสู่เป้าหมาย "คนพ้นโลก" หรืออย่างน้อยที่สุดขอแค่ได้ Count Down ในชาตินี้ ก็ยังดี