วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ร่มสีเทา: คันเก่าแต่เอามาเล่าใหม่

ขณะที่เดินๆ อยู่และเพลงใน iPod ของผมก็วนมาถึงเพลงร่มสีเทา ทำให้ความคิดในครั้งเก่าก่อนที่จะเขียนเกี่ยวกับเพลงนี้ได้โผล่ขึ้นมาย้ำเตือนผมอีกครั้ง

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า หลายๆ คนคงรู้จัก เคยได้ยินเพลง และชื่นชอบเพลง "ร่มสีเทา" ของวงวัชราวลี พลัส เช่นเดียวกับผม ซึ่งผมเองต้องขอคารวะถึงผู้ประพันธ์เพลงนี้ด้วยใจจริง เนื่องจากเพลงนี้ ถือเป้นเพลงที่มีความไพเราะในเชิงดนตรีอย่างมาก มีการใช้ภาษางดงามจนบรรยายให้เห็นภาพตามไปได้ และที่สุด ก็คือ แฝงไปด้วยธรรมะและปรัชญาในการใช้ชีวิตอีกด้วย 


http://www.youtube.com/watch?v=P5VFTPL3Er4


ในฐานะที่ผมเป็นคนศึกษาธรรมะมาบ้าง ผมมองว่า เพลงนี้เป็นเพลงดีที่สุดเพลงหนึ่งในรอบ 10 ปีของไทยเลยก็ว่าได้ (อย่างน้อยก็ในความคิดของผม) เนื่องจากเพลงนี้ได้รวบรวมเอาข้อธรรมะหลายประการมาบรรจุอยู่ภายในเพลงนี้ และผมก็เชื่อว่า ใครหลายคนก็อาจจะเคยใช้เพลงนี้เป็นสะพานข้ามห้วงยามแห่งความทุกข์ และทำให้เข้าใจโลกตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในเรื่องนี้ ผมจะชี้ให้เห็นในสิ่งที่ผมมองเห็นว่า ช่วงไหนวรรคใดบ่งบอกถึงเกล็ดธรรมมะข้อใดบ้าง แต่ต้องขอออกตัวเลยว่า ตัวผมเองคงมิกล้าอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นผู้รู้ในข้ออรรถข้อธรรมอย่างกระจ่างแจ้ง และยิ่งไม่กล้าไปเปรียบกับพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ หลวงตาผู้ทรงธรรมทั้งหลายอีกด้วย หากแต่เป็นผู้สนใจใคร่รู้ในธรรม ก็แค่นั้นเอง ฉะนั้น หากสิ่งที่ผมคิด ผมพูด หรือผมได้เขียนออกมา มันบิดเบือนจากธรรมะ จากความเป็นจริง หรือก้าวล่วงละเมิดต่อผู้อื่น ผมก็กราบขออภัยในความรู้อันน้อยนิดของผมด้วย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมอยากแค่จะแสดงมุมมองต่อเพลง "ร่มสีเทา" นี้ก็เท่านั้นเอง ซึ่งอาจจะมีคนคิดได้ก่อนผมมากโขแล้วด้วย

ขอเริ่มต้นจากเนื้อเพลง ซึ่ง copy มา และจะแสดงความคิดเห็นเป็นวรรคตอนไป

ฉันเฝ้าถามความสุขอยู่ที่ไหน ชายที่เขาเดินผ่านฉันเข้ามา
บอกกับฉันขอร่มสักคัน แต่ว่าที่มือเขาก็มีหนึ่งคัน  
ก็แปลกใจ ท่ามกลางหยดฝนโปรยปราย ==> ผมเชื่อว่า คนเราทุกคนนั้นล้วนที่จะแสวงหาความสุข แต่ในหลายครั้งก็มีเหตุการณ์แปลกๆ เกินขึ้น อย่างในเพลงนี้ ขณะที่ฝนกำลังตก แต่คนที่ถือร่มอยู่ในมือแล้ว ยังจะมาขอร่มกับอีกคนนึง (ที่อาจจะไม่มีร่มด้วยซ้ำ) หากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ผมก็เชื่อว่า คนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องไม่ส่งร่มให้กับคนที่ขออย่างแน่นอน พร้อมกับตั้งคำถามว่า "คุณก็มีร่มอยู่แล้ว จะขอทำไมอีก" และก็จบเพียงแค่นั้น โดยไม่ได้คิดต่อ หรือมองในมุมอื่นอีกเลย

เขาก็ถามฉันว่าอยากสุขไหม ลองหุบร่มในมือสักพักหนึ่ง 
และเงยหน้ามองวันเวลา มองหยดน้ำที่มันกระทบตา 
ยังเปียกอยู่ใช่ไหม หรือไม่มีฝน  ==> จริงแล้ว ความสุขอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณยอมรับความจริง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับว่าชีวิตเรานี้ตกอยู่ภายใต้สภาวะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หากคุณทำได้เท่านี้ ชีวิตคุณก็ก้าวผ่านความทุกข์ได้แล้ว และชีวิตก็จะมีความสุขสงบมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ซึ่งในเพลงนี้ ตามความคิดของผม (ซึ่งอาจจะตีความผิดได้) ผู้ประพันธ์เพลงเปรียบเทียบความจริงหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไว้เหมือนกับหยดฝน ขณะที่สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือปกคลุมความจริงไว้ ก็คือ "ร่ม" ที่ทำให้เราอยู่ในอารมณ์สีเทานั่นเอง หากพูดตามภาษาธรรมแบบคิดเองเออเอง ก็คงหมายความถึง ตัวอวิชชา (ความไม่รู้) และตัณหาอุปาทานต่างๆ นั่นเอง ฉะนั้น หากเราหุบร่ม หรือขจัดตัวไม่รู้ไปได้ และสามารถยอมรับและเข้าถึงความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ในโลกได้ แม้เพียงชั่วคราว เราก็พ้นทุกข์แบบชั่วคราวแล้ว

บนท้องฟ้าไม่มีอะไรแน่นอน ถ้ามองจากตรงนี้ 
เดี๋ยวก็มืด แล้วก็สว่าง 
อาจจะมีฝนก่อเป็นพายุ หรือลมลอยปลิวอยู่แค่นั้น 
สุขที่เคยเดินทางตามหามานาน 
ไม่ได้ไกลที่ไหน อยู่แค่นี้เอง  ==> แท้จริงแล้ว ทุกสิ่งอยุ่ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง กล่าวคือ มีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้าเอง แม้จะกว้างใหญ่แสนไกลแค่ไหน ก็ยังมีการแปรผันจากความมืดไปสู่ความสว่าง และจาความกสว่างไปสู่ความมืด แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า "ใจ" ของเราพร้อมที่จะยอมรับและเข้าใจถึงความไม่แน่นอนจากสิ่งรอบตัวนั้นหรือเปล่า สาเหตุหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นต้นตอของความทุกข์ ก็คือ คนเราไม่พร้อมที่จะยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีอัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิมานะ ความคิด ความเชื่อ ของตนเอง

ยิ้มฉันยิ้มมากกว่าทุกครั้ง 
สุขที่ฉันตามหามาแสนนาน 
อยู่ตรงนี้ แค่เพียงเข้าใจ อย่าไปยึด 
ถือมันและกอดไว้ ก็แค่ร่มเท่านั้น เท่านั้น ==> ท่อนนี้ กำลังจะชี้ให้เห็นถึง "ความไม่มีตัวตน" หรือ "ไม่มีสิ่งไหนที่เป็นของเรา"

บนท้องฟ้าไม่มีอะไรแน่นอน ถ้ามองจากตรงนี้ 
เดี๋ยวก็มืด แล้วก็สว่าง 
อาจจะมีฝนก่อเป็นพายุ หรือลมลอยปลิวอยู่แค่นั้น 
สุขที่เคยเดินทางตามหามานาน 
ไม่ได้ไกลที่ไหน อยู่แค่นี้เอง ==>  ท่อนนี้ ช่วยย้ำเตือนในเรื่องของ "อนิจจจัง" ความแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลอีกครั้ง ให้เรายอมรับความจริงของโลกว่าถูกครอบด้วยกฎแห่งไตรลักษณ์ และให้คำแนะนำเราว่า "ความสุข" ที่เราตามหานั้น ไม่ได้อยู่ที่ใดเลย แท้จริงแล้ว มันอยู่ที่ "ใจ" อันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด ซึ่งมันขึ้นอยู่ว่าเราจะเลือกใช้ "ใจ" จะมองสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างไร นั่นเอง หากดูจากเนื้อเพลงได้พูดถึงเรื่องสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยยก "ธาตุลม" มาประกอบ หากเป็นคนมองด้วยใจที่เป็นแง่ร้าย ก็อาจจะคิดว่ามันเป็นพายุลูกใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้ามาใส่ตัวเรา เป็นปัญหา เป็นความทุกข์อันหนักหน่วงของเรา ในทางกลับกัน หากเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ก็จะพบว่าแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพายุลูกใหญ่ ไต้ฝุ่น เฮอริเคน หรือมรสุมต่างๆ นานา แท้จริงแล้ว มันก็คือ "ธาตุลม" ที่กำลังลอยปลิวอยู่ เท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ต่างกันไปบ้าง ก็คือ เรื่องของความเร็ว และขนาดของลม ก็แค่นั้น

ฉันเห็นเธอถือร่มผ่านมา เต็มไปด้วยร่องรอย 
และคราบน้ำตา ฉันได้เห็นแล้วมันปวดใจ 
ไม่ใช่เพียงแค่เธอที่ทุกข์ ฉันก็เป็นเหมือนเธอ 
เธอได้ยินไหม อยากขอให้เธอลองโยนร่มที่ถือเอาไว้หนัก 
โยนมันออกไป ==> สำหรับท่อนนี้ ผมมองว่า การที่เราถือร่มไว้ หรือถูกครอบงำด้วย อวิชชา และตัณหาอุปทานต่างๆ มันสร้างความทุกข์ ความโศกเศร้า เสียใจ ให้แก่เรา ไม่ใช่เฉพาะตัวเราเท่านั้น แต่อาจจะรวมไปถึงคนอื่นๆ รอบข้างตัวเราที่เค้ามองเห็น หรือมีสัมพันธภาพกับเราด้วย และทางออกของเพลงนี้ ก็บอกไว้ว่า ทางหนึ่งที่อาจช่วยในการบรรเทาทุกข์ได้ ก็คือ ความพยายามที่จะลดทอน จนกระทั่งสลัดความไม่รู้ทิ้งไป ออกไปเฉกเช่น การโยนร่มสีเทาออกไป นั่นเอง เนื่องด้วยหากเรายังคงถือร่มสีเทาครอบตัวเราไว้ เราจะไม่มีวันได้สัมผัสถึงความจริง ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง จนกระทั่งอาจจะจมดิ่งหมุนเวียนอยู่ในห้วงทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

บนท้องฟ้าไม่มีอะไรแน่นอน ถ้ามองจากตรงนี้ 
เดี๋ยวก็มืด แล้วก็สว่าง 
อาจจะมีฝนก่อเป็นพายุ หรือลมลอยปลิวอยู่แค่นั้น 
สุขที่เคยเดินทางตามหามานาน ไม่ได้ไกลที่ไหน ==> กลับมาย้ำเตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลง หรือ "อนิจจัง" อีกครั้ง และจากตรงนี้ พูดได้สั้นๆ ว่า "จะสุข จะทุกข์ มันอยู่ที่ใจ"

อย่าไปยึด อย่าไปถือ 
อย่าไปเอามากอดไว้ ก็จะไม่เสียใจ 
ตลอดชีวิต ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใคร 
จะทุกข์ จะสุขแค่ไหน ก็อยู่ที่จะมอง ==> บทสรุปและทางออกของปัญหาจากเพลงนี้ ก็คือ เราต้องปล่อยวาง อย่าไปยึดถือในอัตตาของเรา ซึ่งครอบคลุมถึง การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ และการปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ล้วนเป็นตัวทุกข์ทั้งสิิ้น และที่้สำคัญ คือ "ใจ" ที่ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากใจเรามองว่า เป็นทุกข์ มันก็จะเป็นทุกข์ หากมองว่า เป็นสุข มันก็จะเป็นสุข หรือกล่าวอย่างรวบรัด คือ จะสุขจะทุกข์อยู่ที่ใจ นั่นเอง เนื่องจาก "ใจ" หรือความคิด มักจะชี้นำการกระทำเสมอ หากพูดแบบภาษาธรรมขึ้นมาหน่อย ก็กล่าวได้ว่า "จิตเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน"

และผมขออาราธนาโอวาทธรรมของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ มาย้ำเตือนว่า "จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) ฉะนั้น ทุกข์เกิดที่จิต ก็ต้องดับที่จิต" (จากหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม)


สุดท้ายนี้ ผมขอจบเรื่องนี้ด้วยประโยคที่ว่า

"อดทนเวลาที่ฝนพรำ
อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง
เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง
ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ
ว่ามันคุ้มค่า (แค่ไหนที่เฝ้ารอ)"
และ "หากหากไม่รู้จักเจ็บปวดก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ"

ใช่ครับ นั่นเป็นเพลง "ฤดูที่แตกต่าง"  ซึ่งในมุมของผม ก็คิดว่าเป็นอีกหนึ่งเพลงที่ดีที่สุดในรอบหลายสิบปีของไทยเลยเทียว (อย่างน้อยก็ในความคิดของผม)

นับว่าเป็นบุญที่ได้เกิดมาในผืนแผ่นดินไทย เป็นบุญที่ได้เป็นคนไทย และที่สุด คือ เป็นบุญวาสนาที่ได้มาพบเจอกับพระพุทธศาสนา (ที่เป็นประเสริฐที่สุดในโลก อย่างน้อยก็ในความคิดของผม) อันเป็นหนทางที่จะช่วยลดทอนความทุกข์ของคนให้เบาบางจางคลายไปได้ และถึงที่สุดแล้ว สามารถนำเราไปสู่ความดับทุกข์ได้ นั่นเอง

ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่ประคับประคองผมมาถึงทุกวันนี้ ด้วยใจจริง



สื่อออนไลน์: ความแตกต่างที่เหมือนกัน

ระหว่างที่เดินทางไปเรียนหนังสือกว่าห้าหกวัน คิดไปคิดมา ก็พอมีไอเดียจะมาแชร์ให้อ่านกันบ้าง ประเด็นในวันนี้ คือ เรื่องของ "สื่อออนไลน์" นั่นเอง หลายๆ คน คงได้ยินได้ฟังและคุ้นชินกับ "Social Media" กันมาก ซึ่งผมเองก็มิใช่ผู้รู้ หรือทรงภูมิทางด้านนี้แต่อย่างใด เพียงแต่ได้นั่งคิดและสังเกตอะไรบางอย่างได้เท่านั้นเอง

เอาเข้าจริง "Social Media: สื่อออนไลน์" ตามความรู้ความเข้าใจเท่าหางอึ่งของผมนั้น ได้สรุปออกมาว่า "มันเป็นเครื่องมือ ช่องทาง วิธีการที่คนเราใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยพึ่งพาระบบไร้สายหรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั่นเอง" ซึ่งในปัจจุบัน สื่อออนไลน์ที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Facebook, Twitter, SocialCam, Instagram และ LINE เป็นต้น โดยสื่อแต่ละประเภทก็มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป ซึ่งท่านผู้อ่านที่คร่ำหวอดในโลกออนไลน์คงทราบกันดีอยู่แล้ว และผมจะไม่ขอพูดในประเด็นนั้น

แต่สิ่งที่ผมสังเกตได้ (อาจจะมีคนมองออกก่อนผมซะอีก) เหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสื่อออนไลน์มากมายขนาดนี้ ก็คือ ต้องการสร้างความแตกต่างให้ผู้ใช้ (ซึ่งต่อไปผมขอเรียกว่าเป็น "นักเลงออนไลน์") ทั้งนี้ เนื่องจากในสังคมไทยทุกวันนี้ ผู้คนต่างมุ่งแสวงหาความแตกต่าง และความโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ ประกอบกับการใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องยกสถานะของตนเองนั้น มีต้นทุนที่ต่ำจนแทบจะไม่มีเลย (หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น Free Goods ไปแล้ว)  สังเกตได้จากนักเลงออนไลน์คนหนึ่ง จะใช้สื่อออนไลน์หลายประเภทที่กำลัง In Trend พร้อมๆกัน 

 ซึ่งหากพูดตามภาษาชาวบ้านๆ ก็คือ สื่อออนไลน์เหล่านั้น ตอบโจทย์นักเลงออนไลน์เข้าอย่างจังเบ้อเร้อ รวมไปถึงการเข้ามาเติมเต็มบางอย่างที่หายไปให้แก่ผู้ใช้บริการ อาทิ ความเป็นเพื่อน คำชื่นชมต่างๆนานา (ที่อาจจะเคยได้รับ หรือไม่เคยได้รับก็ตาม) หรืออาจใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ และเช็คข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆของคนในแวดวงเดียวกัน เป็นต้น โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว แต่สิ่งที่ต้องลงทุนเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า ก็คือ การ Act ท่าถ่ายรูป, การ Post ข้อความต่างๆ หรือแม้กระทั่งคอยตรวจตราจับจ้องความเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากจะพูดแบบนักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คงต้องบอกว่า ปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์นั้น แสดงให้เห็นถึง  Demand & Supply of Social Media ได้ดุลยภาพกันพอดิบพอดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ อาจจะเป็นในด้าน Dark ของโลกออนไลน์ซะมาก หรือใช้มุมมองแบบ Pessimism นั่นเอง หากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซ์ (Marx) มีแนวคิดว่าด้วย "ลัทธิบูชาสินค้า" หรือ "ลัทธิบูชาเงิน" ซึ่งหมายถึง การที่เงินเข้ามาแทนความสัมพันธ์ในวิถีการผลิต (mode of production) ระหว่างคนกับคน นั่นเอง ในสถานการณ์ Modernization เช่นนี้ ที่มี internet เป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงอานุภาพมหาศาล ไม่เพียงแต่ คนในสังคมจะถูกเกณฑ์เข้าสู่ ลัทธิบูชาสินค้าและเงินตราแล้ว ยังถูกกวาดต้อนเข้าสู่ ลัทธิแห่งสื่อออนไลน์ อีกด้วย ซึ่งลักษณะสำคัญของลัทธิออนไลน์นี้ (เท่าทีสังเกตได้)  มีดังนี้
1. จะเป็นผู้ที่แสดงตัวตนในโลกออนไลน์เกือบตลอดเวลา ไม่เว้น เวลานอนหลับ เวลาเข้าห้องน้ำ และเวลาเรียน เป็นต้น
2. มักจะมีการโต้ตอบบนพื้นที่ส่วนตัวในโลกออนไลน์อย่างทันท่วงที แต่มักจะคิดอะไรหรือ Take action ได้ไม่ค่อยมากนัก นอกจาก Like Share Follow และคำพูดสั้นๆ อย่าง อิอิ หุหุ อ่านะ เป็นต้น
3. บางคนที่ Advance มากขึ้น ก็นำสื่อออนไลน์นี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผ่านทางการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้า หรืออาจพูดได้ว่าเป็นช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ นั่นเอง

ซึ่งที่พูดมายืดยาวนั้น อาจจะไม่เกี่ยวกับชื่อเรื่องสักเท่าใด ก็เลยต้องขอสรุปให้เข้าประเด็นก่อนที่จะออกทะเลมากไปกว่านี้ ความคิดที่อยากจะเสนอในเรื่องนี้ ก็คือ ปัจจุบันนี้ สื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของคนเรามากซะเหลือเกิน มีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และแต่ละประเภทพยายามที่จะสร้างความแตกต่างจากสื่อต่างประเภทในแง่ของการใช้งาน ความสะดวก ความง่ายในการเข้าถึง รวมไปถึงประโยชน์จากการใช้สอย แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกประเภท คือ สื่อออนไลน์ทุกประเภท มีส่วนในการลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนลง หรืออาจพูดได้ว่า คนไม่อยากจะพูดคุยติดต่อสื่อสารกันโดยตรง (direct communication) แบบ Face to Face แต่กลับไปให้ความสนใจต่อการสื่อสารผ่านตัวกลาง หรือสื่อออนไลน์แทน 

ผลที่เกิดขึ้น ก็คือ กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมนุษย์ เช่น การกินข้าวร่วมกัน การเล่นกีฬา การเรียนหนังสือในห้องเรียน การออกไปเที่ยวข้างนอกหรือการเปลี่ยนสถานที่เพื่อหาประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ เป็นต้น เริ่มลดความสำคัญลงและจางหายไป พูดง่ายๆ คือ เราอาจถูกลดทอนความเป็นคนลง เนื่องจากพึ่งพาตัวกลาง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มากเกินไป  จนในที่สุดอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในเชิงโครงสร้างต่างๆ ตามมาอีกมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรมเนื่องจากลูกหมกมุ่นกับสื่อออนไลน์มากเกินไป และพ่อแม่ไม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นและความเอาใจใส่แก่ลูก , ปัญหาความรุนแรงต่างๆ เนื่องจากสื่อออนไลน์ที่แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีการบิดเบือนข้อมูล เป็นต้น 

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กฎแห่งอนิจจังกับการจากไปของลูกแมว

วันนี้ก็มีเรื่องราวหลายอย่างเข้ามากระทบกับอารมณ์ ความรู้สึก แต่เรื่องที่สะเทือนใจมากที่สุดของวันนี้ ก็คือ ลูกแมว 3 ตัว ที่มาอาศัยอยู่ด้วยนั้น ได้ตายจากไป

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้กระตุ้นเตือนและทำให้เราได้ระลึกถึง "กฎของอนิจจัง" หรือกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ว่า สิ่งต่างๆ นั้นล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ทั้งสิ้น 

ในกรณีของลูกแมวทั้งสาม กฎของอนิจจัง ได้เกิดขึ้นหรือทำงานรวดเร็วกว่าวัฏจักรของแมวตัวอื่นๆ มันเกิดมาลืมตาและตั้งอยู่ ดูโลกได้เพียง 2 เดือน และสุดท้ายก็แตกดับไป ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ใครหลายๆ คนรู้สึกโศกเศร้ากับการจากไปอย่างกะทันหันของมัน ขณะที่แม่แมว ก็เฝ้าร้องเรียกเพรียกหาแต่ลูกของมัน สร้างความสลดสังเวชแก่ผู้คุ้นเคยไม่น้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สะท้อนให้เห็นตามความเป็นจริง ก็คือ 

ชาติปิ ทุกขา (แม้การเกิดก็เป็นทุกข์)  ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม คน หรือแมว เมื่อมีการเกิดขึ้น ก็ถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์แล้ว

ชะราปิ ทุกขา (แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์) เมื่อเวลาผ่านไป เกิดความเปลี่ยนแปลง ความแก่เฒ่า เข้ามาเยือน ก็ทำให้เป็นทุกข์ได้

มะระณัมปิ ทุกขัง (แม้ความตายก็เป็นทุกข์) สิ่งใดก็ตามที่ต้องแตกดับไป ก็นำความทุกข์มาให้แก่ผู้ที่เฝ้ามองอยู่

โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา (แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์) อาการต่างๆ ที่แสดงออกว่า ล้วนแต่เป็นเครื่องบอกว่ากำลังเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

อัปปิเยปิ สัมปะโยโค ทุกโข (ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์) ข้อนี้ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก แต่ขอเสริมตรงที่ว่า การเป็นทุกข์เช่นนี้ เกิดขึ้นจากการที่เรายึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (อัตตานั่นเอง) และไปให้ความหมาย หรือตีคุณค่าของสิ่งต่างๆ ว่าเรารัก เราชอบ เราเกลียด เราชัง นั่นเอง

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข (ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์) ข้อนี้ ยิ่งชัดเจนเข้าไปอีก ไม่พูดอะไรเพิ่มเติมล่ะ

ตราบใดที่เราไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับความจริงทั้ง 6 ประการข้างต้น เราก็ึคงต้องวนเวียนอยู่ในทะเลทุกข์นี้อีกนานแสนนาน 

มาถึงตรงนี้ สิ่งที่พอจะทำได้ใำห้แก่ลูกแมวทั้ง 3 ที่จากไป ก็คือ ในเมื่อพวกเขาได้สิ้นเวร สิ้นกรรม ในการเสวยชาติเป็นแมวแล้ว ก็ขอให้ดวงวิญญาณทั้งสามได้ไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การจากไปของลูกแมวทั้ง 3 แม้จะนำมาซึ่งความทุกข์โศกให้กับใครหลายๆ คน ณ ที่แห่งนี้ แต่สำหรับผมแล้ว การตายของมันก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้ ช่วยกระตุ้นและย้ำเืตือนผมให้พิจารณาสภาวะธรรมดังกล่าวให้มากและละเอียดมากยิ่งขึ้น จนต้องกลับมาคิดว่า "หากวันใดวันหนึ่ง เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ กับเรา กับคนใกล้ตัว กับคนที่เรารักบ้าง เราตกอยู่ในสภาพแบบใด และจะผ่านมันไปได้หรือไม่ อย่างไร" เนื่องด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วย "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"

แต่ในทางพระพุทธศาสนาเอง เราก็สามารถก้าวผ่านกฎไตรลักษณ์ และข้ามหัวงน้ำโอฆะ ในสังสารวัฏนี้ได้ โดยอาศัยอริยสัจ 4 และการแทงตลอดด้วยสายปฏิจจสมุปบาท ซึ่งจะนำมาขยายความให้ในโอกาสต่อไป

ขอให้ทุกดวงจิตทุกดวงวิญญาณ จงมีแต่ความสุข สงบ และสันติ เทอญ...!!!


วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เคล็ด (ไม่) ลับในการทำงาน

           หลังจากห่างหายไป 2-3 วัน เนื่องจากภารกิจที่ค่อนข้างรัดตัว ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบมาราธอนกว่า 5 ชั่วโมง การสอนหนังสือแบบ Paralympic และการพูดคุย ชี้แจง ทำความเข้าใจกับนักเรียน กว่าจะผ่านพ้นแต่ละวันไปได้ ก็สร้างความเหน็ดเหนื่อยมิใช่น้อย

           ในวันนี้ ก็เลยจะประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นมุมมองของกระผมแต่เพียงถ่ายเดียว มิได้มีเจตนาจะล่วงละเมิด สร้างความเสียหาย หรือแม้กระทั่งจะบิดเบือนความจริงของผู้ใด ฉะนั้น ผู้อ่านก็ควรจะใช้วิจารณญาณในการรับรู้ รับฟัง ในสิ่งที่ผมนำเสนอ 

           ย้อนกลับไปเมื่อวันพุธที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมนัดแรกของคณะใหม่ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ใน จ.หนองคาย โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ คณบดีฯ ต้องการจะมาดำเนินการสรรหาคณะกรรมการคณะ อีกทางหนึ่ง ท่านเองต้องการที่จะพบปะพูดคุย และร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับอาจารย์ในคณะ สิ่งที่ผมสังเกตได้ 2 ประการ คือ

         ประการที่ 1  ผู้ที่จะกลายเป็นผู้บริหารในอนาคตบางท่าน ยังขาดวิสัยทัศน์ในการทำงานอยู่มาก ขาดทักษะในการสื่อสารภายในองค์กร  ไม่ทราบถึงสถานะ  บทบาท และหน้าที่ของตนเอง  ไม่รู้จักการจัดลำดับความสำคัญของงาน รวมไปถึงไม่สามารถจะตัดสินใจดำเนินการในเรื่องสำคัญได้อย่างถูกต้องและเด็ดขาด ที่ต้องพูดเช่นนี้ เพราะ ในฐานะที่เป็นเจ้าบ้าน บุคคลนั้น ไม่สามารถจัดการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเตรียมอาหารกลางวัน ผมมองว่า "สอบไม่ผ่าน" เนื่องจากต้องมีการสั่งอาหารกลางวันกะทันหัน และมิหนำซ้ำยังเรียกเก็บเงินกับคณบดี อีกด้วย ทำให้ผมต้องพูดจากใจจริงว่า "มีความเป็นกังวล และรู้สึกเป็นห่วงคณะอยู่ไม่น้อย" หากได้ผู้บริหารประเภทนี้ มาบริหารงานองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก

       ประการที่ 2  แม้จะมีการปรับเปลี่ยนโครงการสร้างทำงานไปสู่รูปแบบใหม่ ที่(น่าจะ) มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพมากกว่า บุคคลากรภายในคณะบางท่าน ยังโหยหาระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) และยังคงอิงกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนอยู่ (Reciprocal) โดยอาศัยการช่วงชิงพื้นที่และพยายามจะดึงเอาบุคคลภายนอกที่ตนเองมีสายสัมพันธ์อันดีด้วยนั้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ เนื่องจากมันไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอนาคต หากทำเช่นนี้แล้ว แทนที่ความพยายามที่ผ่านมาจะเป็น "การสลายตัว เพื่อริเริ่มสิ่งใหม่" มันจะวนกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "วงจรอุบาทว์" อีกครั้ง ซึ่งจะไม่ส่งผลดีกับใครเลย นอกจากพวกพ้องของตนเอง

         เหตุการณ์ต่อมา เป็นการประชุมในระดับที่เล็กลงมา สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจมาก ก็คือ มันเป็นการประชุมที่ยาวนานมากที่สุดกินเวลาว่า 5 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง 4 ท่านเท่านั้น มันสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานหนักก็จริง แต่ในมุมมองของผม กลับเห็นว่า มันออกจะดูไร้ประสิทธิภาพไปหน่อย เพราะสามารถที่จะทำให้มันมีสาระเข้มข้น และกระชับได้มากกว่านี้ คำถามคือ ทำไมไม่ทำกัน?  และทำให้ผมต้องตั้งคำถามต่อเนื่องมาอีกว่า "ทำไมคนทำงานที่นี่ เค้าชอบทำงานที่เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพหรอกหรือ?" "มันมีวิธีที่ง่าย และมีประสิทธิภาพกว่าอยู่นะ แต่ทำไมพวกคุณไม่ทำกัน?" พูดก็พูดเถอะ ในสังคมไทยที่มีระบบอาวุโสอยู่ ผมก็คงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการบ่นในพื้นที่ส่วนตัว ก็เท่านั้นเอง

        จากเรื่องเล่าที่นำมาเสนอนี้ ทำให้ผมนึกถึงข้อธรรมะในหมวด 4  อันได้แก่ พรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 และอิทธิบาท 4 นั่นเอง 
        
        ในส่วนของการบริหารงานนั้น ผมมองว่า สังคหวัตถุ 4 (ธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน) ได้แก่ 
          1. ทาน คือ การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ความรู้วิทยาการ ธรรมะ ตลอดจนการให้อภัยกัน
          2. ปิยวาจา (หรือวาจาสุภาษิต) คือ การพูดคำจริง พูดด้วยไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความปรารถนาดี และพูดเหมาะสมกับสถานที่ และกาลเวลา)
          3. อัตถจริยา คือ การทำตัวให้เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่คณะ
          4. สมานัตตา คือ การประพฤติตัวให้เป็นกลาง มีความสม่ำเสมอ การวางตัวที่ดี นั่นเอง 


       นอกจากนั้น หากน้อมนำหลักธรรมตามสังคหวัตถุ 4 มาปฏิบัติร่วมกับพรหมวิหาร 4 (คุณสมบัติของความเป็นพรหม) อันประกอบไปด้วย เมตตา (อยากให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา (อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข) และอุเบกขา (การวางจิตให้เป็นกลาง ไม่ดีไม่ร้าย)  แล้วจะทำให้การบริหารงานใดๆ ก็ตามเป็นไปด้วยความราบรื่น และมีประสิทธิภาพ นั่นเอง

      สำหรับผู้ที่ประกอบการงานใดๆ ก็ตาม จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัย อิทธิบาท (ฐานแห่งความสำเร็จ) 4 ประการ ได้แก่
        1. ฉันทะ คือ ความพอใจต่องานที่ทำ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องรักที่จะทำงานนั้นๆ
        2. วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม แม้จะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด ก็ต้องอดทนและทำงานนั้นต่อไป
        3. จิตตะ คือ ความตั้งใจหมายมั่น ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจทำงานให้ลุล่วง หรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องมี "สมาธิ" กับงานที่กำลังทำอยู่
        4. วิมังสา คือ การพิจารณา ใคร่ครวญ และใช้ "ปัญญา" ในการตรวจสอบงาน ซึ่งถือว่าเป็น "กุญแจสำคัญ" ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

     สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมนำเสนอในวันนี้ น่าจะให้ข้อคิดกับใครหลายๆ คนและมีประโยชน์สำหรับที่นำไปปฎิบัติบ้างไม่มากก็น้อย

      ขอความสุขสงบและสันติ จงบังเกิดแก่ทุกท่าน..!!!

        
        
     

      
         
       

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มันเป็นเช่นนั้นเอง

           ในช่วงนี้ งานเขียนของผมจะหนักไปทางการบ่นรำพึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง และอาจจะเต็มไปด้วยกลิ่นไอของนักเขียน งานเขียนที่ผมชื่นชม เสียเป็นส่วนใหญ่
         
           พูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกว่าตอนนี้ชีวิตของผมนั้นแทบจะไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง สิ่งที่ผมครุ่นคิดในช่วงนี้ ก็มีอยู่ 2-3 อย่าง ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่อง จะได้ไปเรียนต่อหรือไม่ ถ้าไม่เรียนต่อแล้วจะไปทำอะไร หรือจะเลือกเส้นทางอีกสายหนึ่ง
         
            แต่คำตอบที่เกิดขึ้นในใจขณะนี้ ก็คือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามสิ่งที่มันจะเป็นตามเหตุปัจจัย หากคิดตามแบบฉบับท่านพุทธทาส ท่านก็คงบอกว่าให้ทำความเข้าใจกับหลัก "อิทัปปัจจยตา" และ "ตถตา" ให้ถ่องแท้ (ซึ่งหากผมกล่าวอะไรที่ผิดพลาดไป ก็ขออภัยในความรู้ไม่จริงของผมด้วย)

            อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกหนึ่งคำเตือนจากอาจารย์เสกสรรค์ ที่ว่า "ต้นทางอยู่คน...ปลายทางอยู่ฟ้า" ในเมื่อเราได้พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ก็คงต้องยอมรับมัน ในบางครั้ง เราไปไม่ถึงฝั่งฝัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องเสียใจ ร้องไห้ คร่ำครวญ เนื่องเพราะปลายทางแล้วเราไม่สามารถจะกำหนดกะเกณฑ์อะไรได้ อีกทั้งอย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำมันไปแล้ว

             มาถึงตอนนี้แล้ว ผมก็คงได้แต่บอกตัวเองว่า "ทำหน้าที่ของตัวเองตรงนี้ให้ดีที่สุด" แม้หลาย ครั้งจะรู้สึกเหนื่อยล้ากับบางอย่างที่เป็นอยู่ แต่ก็มีกำลังใจดีๆ จากหลายๆ คน ที่ทำให้ผมรู้ว่า ผมเองสามารถเป็นครูที่ดีได้และมีคุณค่ากับสังคม ยิ่งกว่านั้น มีคนเคยมากบอกว่า เค้ามีผมเป็น idol หรือเป็น role model สำหรับพวกเขา (ผมสาบานได้ว่า ผมเคยได้ยินแบบนั้นมาจริงๆ)  แต่ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อย  มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมแอบยิ้มได้ทุกครั้ง นั่นอาจเป็นเพราะ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นไอดอลสำหรับใครได้ และเป็นเพียงผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่ตรงนี้ มาทำในสิ่งที่อยากทำ ก็เท่านั้นเอง

           สุดท้ายนี้ ก็อยากจะบอกอีกครั้งว่า "ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ" ทุกๆ แรงใจที่มีให้กัน และขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสงบสันติในชีวิต

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เปิดพื้นที่ระบาย

            หลังจากเว้นว่างไปนานมากทีเดียวสำหรับการเขียนบล็อก สืบเนื่องจากความไม่พร้อมของตัวผมเองในหลายประการแต่พอดีได้เหลือบไปเห็นบล็อกของเพื่อนคนหนึ่งใน Facebook ก็เลยได้สติกลับมาว่า เราควรจะต้องกลับมาเริ่มเขียนบล็อกอีกครั้ง

           ในช่วงที่ผ่านมานั้น ตัวผมเองได้รู้สึกถึงความอึดอัด และความลำบากภายในใจตัวเองไม่น้อย ทั้งที่คนอื่นๆ จะมองว่าสิ่งที่ผมเป็นอยู่ หรือทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆ คนอาจจะไม่เชื่อนักว่าผมจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ หรือถ้าทำได้จะทำได้ดีขนาดไหนเชียว ซึ่งหน้าที่ที่ผมกำลังทำอยู่ (ในทางโลก) นั้น ก็คือ การประกอบสัมมาอาชีวะ ด้วยการเป็นครูบาอาจารย์นั่นเอง (หากใครรู้จักผมดี ก็จะรู้ว่า มันดูขัดกับบุคลิกของผมเองไม่น้อย)

           แต่พูดก็พูดเถอะ ผมเองก็มีความชื่นชอบในอาชีพนี้อยู่ไม่น้อย เพราะผมรู้สึกว่า นั่นเป็นพื้นที่ของผม ที่จะแสดงออกถึงความคิดความอ่านของผมที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว พูดง่ายๆ ก็คือ ผมรู้สึกว่า ผมมีอิสระในการทำงาน มีอิสระในการใช้ชีวิตพอสมควร จากอาชีพนี้ ซึ่งนั่นเป็นในด้านที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ถูกตีกรอบจากโครงสร้างการศึกษาไทย ที่บังคับให้ อาจารย์ที่มีเพียงวุฒิปริญญาโท อย่างผม ต้องไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น นั่นก็คือ ปริญญาเอก หรือพูดอีกอย่างว่า ทางมหาวิทยาลัยนั้นต้องการลูกจ้างที่มีคำนำหน้าว่า ดร. .... นู้น นี่ นั่น เท่านั้นเอง แต่หากไม่ไปเรียนต่อ ก็ต้องขอตำแหน่งทางวิชาการ อาทิ ผศ. รศ. หรือ ศ. มาประดับบารมี และวางไว้หน้าชื่อสมมติของตน

          สำหรับตัวผมเอง ก็ต้องยอมรับว่า จากคนที่เคยมีความคิดทวนกระแส มาถึงขณะนี้ ก็แทบจะไม่สามารถต้านทานอำนาจ ความรุนแรง และความเชี่ยวกรากของโลกได้ หากพิจารณาคำว่า "โลก" ตามเค้าความหมายเดิม (ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าจำมาผิดก็ขออภัย) แปลว่า "มืด" ขณะที่ เจริญ แปลว่า มาก ดังนั้น เมื่อเอามารวมกัน โลกเจริญ ก็เท่ากับแปลได้ว่า ยิ่งมีความมืดมนมากขึ้น ซึ่งมืดในที่นี้ หมายถึง มืดบอดต่อศีลต่อธรรม โลกถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปทานต่างๆ นั่นเอง หากมองให้ขยายไปอีกนิดนึง คน (ในทางพระพุทธศาสนา) หมายถึง ความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ฉะนั้น โลกที่ประกอบด้วยคนหมู่มาก ก็อาจจะหมายถึง ยิ่งมีความยุ่งเหยิง วุ่นวาย อย่างมากนั่นเอง และเป็นหนทางไปสู่ความืดมิด หากพวกคนเหล่านั้น ปราศจากคุณธรรมประจำใจ

         ที่พูดไปข้างต้น ก็เป็นความลำบากใจที่ผมเผชิญอยู่นั่นเอง เนื่องด้วยสถานที่ทำงานของผม จำเป็นต้องมีการติดต่อประสานงานกับคนมากหน้าหลายตา บ้างก็รู้เรื่อง บ้างก็ไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยสุขกับสิ่งที่ทำอยู่เท่าใดนัก ประกอบกับต้องตกอยู่ในข้อบังคับที่ต้องไปเรียน ยิ่งเพิ่มความหนักใจเข้าไปอีก มิใช่ว่าไม่พยายาม ขวนขวายหาที่เรียนต่อ แต่เป็นเพราะ ยิ่งหาเท่าไร ยิ่งทำมากเท่าไร ยิ่งไม่เจอ  และเริ่มรู้สึกท้อแท้ จนต้องหันกลับมามองตัวเองว่า อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงสำหรับตัวเองกันแน่


         แต่เอาเข้าจริง แล้วจิตใจผมก็ยังไม่แข็งแกรงพอที่จะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ ก็คงทำได้เพียงขอเปิดพื้นที่ในการบ่น พยายามทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยกำลังสติปัญญาที่มีอยู่ และหวังแค่ว่า สิ่งที่หวัง สิ่งที่ตั้งใจ จะได้ทำในเร็วนี้ เพื่อที่มุ่งสู่เป้าหมาย "คนพ้นโลก" หรืออย่างน้อยที่สุดขอแค่ได้ Count Down ในชาตินี้ ก็ยังดี